• ปัจจุบันรถยนต์ EV ในท้องตลาดมีหลายยี่ห้อให้เราเลือกตามความพึงพอใจ โดยเฉพาะราคาในปัจจุบันที่สามารถจับต้องได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ไม่ต่างกับรถยนต์น้ำมันทั่วไปที่เราเห็นตามท้องถนน
• รถยนต์ EV จะมีค่าใช้จ่ายในการชาร์จไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 1.4 บาทต่อกิโลเมตร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการขับขี่ และประเภทรุ่นรถยนต์ด้วย
• รถ EV บางรุ่นระยะ 100,000 กิโลเมตรแรก มีค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงไม่เกิน 8,000 บาท
• ประกันรถยนต์ EV ในปัจจุบันจะพบว่ารถยนต์รุ่นเริ่มต้นราคาใกล้เคียง 1 ล้านบาท จะมีค่าเบี้ยประกันเริ่มต้นประมาณ 25,000 กว่าบาท ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับรถยนต์น้ำมันทั่วไป
• จากแอปพลิเคชันเช่ารถ EV พบว่ามีค่าเช่ารายเดือนอยู่ที่เกือบ 30,000 บาท ซึ่งร่วมค่าใช้จ่ายให้แล้วทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายการเช็กระยะ ค่าภาษี พรบ.รถยนต์ แม้กระทั่งรถเสียหรือประสบอุบัติเหตุก็เปลี่ยนให้ใหม่ รวมถึงสามารถเปลี่ยนรุ่นรถยนต์ได้เมื่อครบอายุสัญญา
ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุครถยนต์ EV อย่างเต็มตัว หลังจากรัฐบาลประกาศอุดหนุนราคารถยนต์ EV ผ่านการลดภาษีมากมาย ที่เป็นอุปสรรคทางราคาในการเข้าถึงรถยนต์ EV ในสมัยก่อน แต่เมื่อราคารถยนต์ EV ปรับตัวลงมาแล้ว หลายคนก็ยังมีข้อสงสัยอีกหลายประเด็นถึงนาทีนี้ รถยนต์ EV เหมาะสมที่จะเป็นรถยนต์คันหลัก แทนรถยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และรถยนต์ Hybrid แล้วหรือไม่ รวมถึงสถานการ์เศรษฐกิจแบบนี้ ถ้าอยากเป็นเจ้าของรถควรซื้อ หรือเช่าดี วันนี้เราจะมาคุยเรื่องนี้กัน
ทำความเข้าใจประเภทรถยนต์ EV ในประเทศไทย
1.รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด หรือ (HEV, Hybrid electric vehicle) เป็นรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปและมอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน โดยเมื่อแตะเบรครถ จะมีการเปลี่ยนแปลงพลังงานกลับคืนมาเป็นไฟฟ้าเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่ ส่งผลให้รถมีอัตราการใช้น้ำมันต่ำ เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน
2.รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV, Plug-in Hybrid Electric Vehicle) เป็นรถยนต์ที่คล้ายกับ HEV ประเภทแรก แต่จะสามารถชาร์จไฟฟ้าภายนอกได้ตาม EV Station ในปั๊มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรม ทำให้รถยนต์สามารถขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวได้โดยไม่ใช้น้ำมัน แต่ก็จะมีข้อจำกัดเรื่องของระยะทางที่วิ่งได้ไม่ไกลมากนัก ประมาณ 25-50 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ตามขนาดแบตเตอรี่ที่ไม่ใหญ่มาก
3.รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV, Battery Electric Vehicle) เป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ทำให้ต้องมีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่กว่ารถประเภทอื่น สามารถชาร์จไฟฟ้าได้ทั้งที่พักอาศัย ห้างสรรพสินค้า โรงแรม หรือตาม EV Station ต่างๆ ซึ่งมีทั้งการชาร์จแบบธรรมดา (Normal Charge) ประมาณ 12-16 ชม. การชาร์จแบบรวดเร็ว (Double Speed Charge) ประมาณ 6-8 ชม. และชาร์จแบบด่วน ภายในเวลา 40-60 นาที ส่วนระยะทางต่อการชาร์จ 1 ครั้งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละยี่ห้อรถ โดยมีระยะทางตั้งแต่ 100 กว่ากิโลเมตร จนถึงเกือบ 700 กิโลเมตร ให้เราได้เลือกกัน
เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายรถน้ำมัน VS รถยนต์ไฟฟ้า
| รถยนต์น้ำมัน | รถยนต์ไฟฟ้า(BEV) |
ราคารถยนต์เริ่มต้น | เริ่มต้นประมาณ 3 แสนบาท | เริ่มต้นประมาณ 3 แสนบาท |
ค่าเชื้อเพลิงรถยนต์ | ประมาณ 3-5บาทต่อกิโลเมตร | ประมาณ 1.4บาทต่อกิโลเมตร |
ค่าซ่อมบำรุงรวมทั้งหมด 100,000 กิโลเมตร (City Car) | หลายหมื่นบาท | ต่ำที่สุดประมาณ 8 พันบาท |
ค่าเบี้ยประกันชั้น1 (City Car) | เริ่มต้นเกือบ 2 หมื่นบาท | ประมาณ 2.5 หมื่นบาท |
การขอสินเชื่อ | ทำได้ | ทำได้เฉพาะบางยี่ห้อ |
1.ราคารถยนต์เริ่มต้น สำหรับรถยนต์น้ำมันในบ้านเราก็มีรุ่นให้เลือกเริ่มต้นตั้งแต่ 3 แสนบาทขึ้นไป ส่วนฝั่งรถยนต์ BEV ก็มีเริ่มต้นตั้งแต่ 3 แสนกว่าบาทเช่นกัน แต่สมรรถนะรถยนต์อาจยังไม่ใกล้เคียงกับรถยนต์ทั่วไปทั้งความเร็วสูงสุด และระยะทางที่วิ่งได้ตามขนาดแบตเตอรี่ แต่ถ้าขยับงบเริ่มต้นขึ้นมาเกือบๆล้านบาท สมรรถนะก็จะไม่ต่างกับรถยนต์ตามท้องถนนที่เราได้เห็นกัน ซึ่งก็มาพร้อมกับระยะทางที่วิ่งได้ไกลมากยิ่งขึ้นประมาณ 300 กว่ากิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง แถมปัจจุบันภาครัฐยังออกมาตรการส่งเสริมรถยนต์ EV ทำให้ราคารถยนต์บางรุ่นมีการปรับตัวลงมาประมาณ 2 แสนกว่าบาท ทำราคาใกล้เคียงกับ City Car ในบ้านเรา
2.ค่าเชื้อเพลิงรถยนต์ สำหรับรถยนต์น้ำมันที่เราเห็นกันตามท้องตลาด โดยทั่วไปจะมีค่าใช้จ่ายการเติมน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 3-5 บาทต่อกิโลเมตร แต่ถ้าเป็นรถยนต์ EV จะมีค่าใช้จ่ายในการชาร์จไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 1.4 บาทต่อกิโลเมตร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการขับขี่ และประเภทรุ่นรถยนต์ด้วย ซึ่งก็จะเห็นได้ว่ารถยนต์ EV มีความประหยัดเงินในกระเป๋าได้มากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่รวมเรื่องของค่าติดตั้งเครื่อง EV Charger กรณีที่ต้องการชาร์จไฟฟ้าที่บ้าน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นประมาณ 3 หมื่นบาท ขึ้นอยู่กับฟังก์ชันการใช้งานและประเภทรถยนต์ด้วย รวมถึงหากไฟฟ้าที่บ้านไม่เพียงพอสำหรับชาร์จรถ EV ก็ต้องทำเรื่องขอไฟฟ้าเพิ่มเติมโดยมีค่าใช้จ่ายหมื่นกว่าบาท นอกจากนี้ถ้าต้องการชาร์จไฟฟ้าตามสถานีชาร์จ ก็จะมีค่าใช้จ่ายเหมือนกับการเติมน้ำมัน เช่นรถยนต์ EV ทั่วไปที่วิ่งได้ระยะทางประมาณ 300 กว่ากิโลเมตร การชาร์จไฟฟ้าเต็ม 1 ครั้งก็จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 300 กว่าบาท ซึ่งถูกกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันมาก แต่ก็แลกมาด้วยการเสียเวลาชาร์จหลักหลายชั่วโมง หรือเกือบชั่วโมง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับไฟฟ้าที่เหลือในแบตเตอรี่ และรูปแบบการชาร์จไฟฟ้าที่สถานีด้วย
3.ค่าซ่อมบำรุง สำหรับรถ EV จะมีชิ้นส่วนน้อยกว่ารถน้ำมันมาก เนื่องจากรถยนต์ EV ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งถ้าเทียบกันหมัดต่อหมัดระหว่างรถยนต์ EV กับรถยนต์น้ำมันทั่วไปราคาเกือบล้านบาท จะพบว่าค่าใช้จ่ายในการนำรถเข้าเช็กระยะถือว่าต่างกันค่อนข้างมาก รถ EV บางรุ่นระยะ 100,000 กิโลเมตรแรก มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 8,000 บาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นเปลี่ยนยาง เปลี่ยนหลอดไฟ เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ก่อนจะครอบครองรถ EV คือค่าใช้จ่ายแบตเตอรี่ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าแบตเตอรี่จะมีความเสื่อมคุณภาพลง แม้ค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่มีการรับประกันแบตเตอรี่ให้ประมาณ 8 ปี แต่หากพ้นระยะการรับประกันแล้ว ค่าใช้จ่ายการเปลี่ยนแบตเตอรี่ในวันนี้จะมีราคาหลักหลายแสนบาท ซึ่งก็มีความเชื่อกันว่าแบตเตอรี่จะมีราคาที่ถูกลงมากในอนาคต แต่ทั้งนี้ก่อนออกรถก็ควรปรึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายโดยรวมกับผู้ขายแต่ละค่ายอีกครั้ง
4.ค่าเบี้ยประกัน จากการสำรวจข้อมูลค่าเบี้ยประกันรถยนต์ EV ในปัจจุบันจะพบว่ารถยนต์รุ่นเริ่มต้นราคาใกล้เคียง 1 ล้านบาท จะมีค่าเบี้ยประกันเริ่มต้นประมาณ 25,000 กว่าบาท ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับรถยนต์น้ำมันทั่วไป แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องยี่ห้อรถยนต์ และประเภทความคุ้มครองที่อาจจะยังไม่มีให้เลือกหลากหลายมากนักเหมือนกับรถยนต์น้ำมันที่มีจำนวนมากบนท้องถนน ทั้งนี้จึงควรปรึกษาเรื่องประกันรถยนต์ กับผู้ขายรถยนต์ หรือบริษัทประกันโดยตรงก่อนตัดสินใจ
5.การขอสินเชื่อ โดยปกติแล้วการซื้อรถยนต์ทั่วไปก็จะมีทางเลือกในการซื้ออยู่ 2 ทาง คือซื้อด้วยเงินสดผ่านการจ่ายแคชเชียร์เช็ค หรือจัดไฟแนนซ์ผ่อนเป็นรายงวด ซึ่งรถยนต์ EV ที่ขายในประเทศไทยส่วนใหญ่ก็สามารถขอสินเชื่อได้แล้ว แต่ถ้าต้องการสินเชื่อรถที่เหมาะกับเรา ก็สามารถติดต่อกับสถาบันการเงินโดยตรงได้เช่นกัน
อยากขับรถยนต์ EV เช่าหรือซื้อ
จากการตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการเช่ารถยนต์ EV ราคาเกือบ 8 แสนบาท จากแอปพลิเคชันเช่ารถ EV พบว่ามีค่าเช่ารายเดือนอยู่ที่เกือบ 30,000 บาท ซึ่งร่วมค่าใช้จ่ายให้แล้วทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายการเช็กระยะ ค่าภาษี พรบ.รถยนต์ แม้กระทั่งรถเสียหรือประสบอุบัติเหตุก็เปลี่ยนให้ใหม่ รวมถึงสามารถเปลี่ยนรุ่นรถยนต์ได้เมื่อครบอายุสัญญา เช่น 3 วัน 1 อาทิตย์ 1 เดือน หรือ 1 ปี ซึ่งเหมาะมากสำหรับผู้ที่ใช้รถน้อย เช่นการขับรถไปเที่ยวต่างจังหวัดเป็นครั้งคราว หรือชอบเปลี่ยนรถบ่อยมากๆ ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ เมื่อเทียบกับการซื้อรถ หรือผ่อนดาวน์รถที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย แต่ถ้าหากต้องการเป็นเจ้าของรถ และต้องการใช้รถยนต์ EV คันที่ซื้อเป็นเวลานานหลายปี การซื้อก็อาจมีความคุ้มค่ากว่า เพราะถ้าคำนวณจากค่าเช่ารถยนต์ EV คันเดิมต่อเนื่อง เป็นระยะเวลา 3 ปี จะพบว่ามีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ล้านกว่าบาท ซึ่งสูงกว่าการซื้อรถยนต์ EV แต่ทั้งนี้การซื้อรถยนต์ก็ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายเรื่อง ประกันชั้น 1 ค่าบำรุงรักษา ค่าภาษี พรบ.รถยนต์ ค่าใช้จ่ายรถทดแทนกรณีรถเสีย หรือประสบอุบัติเหตุ หรือดอกเบี้ยที่เกิดจากการผ่อนรถยนต์ EV
คำแนะนำ
สำหรับใครที่อ่านบทความมาถึงจุดนี้ แล้วเริ่มตัดสินใจได้ว่าอยากจะมีรถสักคันเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะรถ EV หรือรถยนต์น้ำมันทั่วไป ทางเลือกการเช่าซื้อรถยนต์ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ โดยสามารถติดต่อ KLeasing ได้โดยตรงเพื่อปรึกษาขอสินเชื่อรถยนต์ที่เหมาะกับตัวคุณมากที่สุด รวมถึงหากใครที่อยากสร้างพอร์ตการลงทุน ให้เติบโตงอกเงยไปพร้อมกับเทรนด์รถยนต์ EV รวมถึงเทรนด์แห่งอนาคตอีกมากมายที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงโลก ไปในทิศทางที่ดีขึ้น ก็สามารถเลือกลงทุนกองทุนแนะนำอย่าง K-CHANGE กองทุนที่เน้นลงทุนหุ้นกลุ่ม ESG ไม่ว่าจะเป็น Tesla, Moderna, TSMCผ่านกองทุนหลัก Baillie Gifford Positive Change Fund - Class B accumulation (GBP) ที่มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น ติดอันดับ 5 ดาว Morningstar (ข้อมูล ณ 28 ก.พ. 65) เหมาะสำหรับผู้รับความเสี่ยงได้สูง และสามารถลงทุนได้ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป